ณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ : รุ่นใหม่ไฟแรง กับชีวิตหลากบทบาท ทั้งนักกฎหมายและนักบริหารรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่ไฟแรงมากความสามารถดีกรีไม่ธรรมดา เป็นทั้งนักกฎหมาย นักบริหาร และ ยังเป็นทายาทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่บุกเบิกมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด
คุณออด - ณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ เล่าย้อนให้ฟังถึงการศึกษาของตนเองว่า “ผมเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศึกษามัธยมปลายที่โรงเรียนโพธิสารพิทยากร หลังจากนั้นจึงตั้งใจที่จะให้โอกาสตัวเองในการเลือกเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เพราะรู้สึกว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญ ต่อมาพอผมรู้ตัวเองว่ามีความสนใจในด้านการเมือง ผมจึงได้เรียนต่อปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาการจัดการการเมืองและการปกครอง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตอนนี้ผมกำลังเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ที่วิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังครับ”
นอกจากงานด้านกฎหมายแล้ว ยังมีทำงานด้านไหนอีกบ้าง
“งานด้านกฎหมายที่ทำอยู่ ถือเป็นอาชีพหลักในการดำรงชีวิตของผม แต่ขอเล่าย้อนไปสักหน่อยว่า ที่จริงแล้วครอบครัวผมไม่ได้มีใครประกอบอาชีพทางด้านกฎหมายเลย ตั้งแต่รุ่นคุณทวดท่านก็เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รายแรกๆ ของไทย ที่ดินบริเวณรัชดา-ห้วยขวาง คุณทวดก็เป็นผู้พัฒนามาตั้งแต่ยังเป็นสวนผักคะน้า อาทิ หมู่บ้านชัยณรงค์ในย่านห้วยขวาง อาคารพาณิชย์ในตลาดห้วยขวาง เลยมาถึงเส้นประชา สงเคราะห์และหลักสี่พลาซ่า (ปัจจุบันได้ขายให้กับไอทีสแควร์) เป็นต้น จนมาถึงรุ่นคุณปู่ ท่านได้ขยายมาพัฒนาที่ดินย่านฝั่งธนบุรี ในชื่อหมู่บ้านชัยมงคล (บางแค/พระประแดง) หมู่บ้านสรัลพร (หนองแขม/เพชรเกษม) และยังมีที่ดินในย่านถนนกัลปพฤกษ์จำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนา ซึ่งคุณพ่อผมก็เรียนจบนิติศาสตร์เช่นกัน แต่พ่อก็ได้มาช่วยงานคุณปู่ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ ครับ
ในฐานะที่ผมเป็นหลานชายคนโตและยังเป็นลูกชายคนโต
ด้วยธรรมเนียมคนจีน จึงเป็นที่คาดหวังในการสืบทอดกิจการทั้งหลายของครอบครัว แต่ด้วยความเข้าใจ คุณพ่อก็เคารพการตัดสินใจของทุกคนในครอบครัวเสมอ ผมจึงได้เลือกเส้นทางเดินของตัวเอง ทั้งเรื่องการเรียนและการประกอบอาชีพ แม้บางครั้งผมจะถูกร้องขอให้ไปช่วยตรวจสอบที่ดินตามที่ต่างๆ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่หลักในความรับผิดชอบ ผมจึงเริ่มฝึกวิชาทนายความที่ บริษัท มารุต บุนนาค อินเตอร์เนชั่นแนล ลอว์ ออฟฟิศ จำกัด ซึ่งพูดได้เต็มปากเลยว่า ผมคือศิษย์เอกรุ่นสุดท้ายของ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ในวัย 97 ปี เจ้าของสำนักงาน ซึ่งเป็นอดีตประธานรัฐสภา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง จึงทำให้ผมได้ซึมซับความรู้ทางกฎหมาย และศิลปะทางการเมืองจากอาจารย์มารุตได้เป็นอย่างดี
เมื่อมีชั่วโมงบินมากพอ อาจารย์มารุตก็แนะนำให้ผมเปิดบริษัทกฎหมายของตัวเองในชื่อ บริษัท ณัฐพร อินเตอร์เนชั่นแนล ลอว์ ออฟฟิศ จำกัด ในปี 2557 และเริ่มรับงานคดีจากพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำต่างๆ เรื่อยมา จนปัจจุบันเรามีลูกความไม่น้อยกว่า 100 ราย ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา สิ่งที่ทำให้บริษัทเราแตกต่างจากที่อื่นก็คือ เรามีทีมงานที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านคอยให้คำปรึกษา ความเห็น และแนะนำเทคนิคในแต่ละเรื่องที่ละเอียดซับซ้อนได้เป็นอย่างดี ทำให้เรามีฐานลูกความเป็นนักธุรกิจและนักการเมืองจำนวนมาก
ต่อมาผมกับเพื่อน (คุณอมาวรินทร์ อินทรีย์สุข) ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท อีโคเซฟ จำกัด ขึ้นเมื่อปี 2560 เพื่อทำธุรกิจออแกไนซ์งานด้านการศึกษา เช่น เป็นผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษา EduLife 2018 และ เรายังเป็นผู้จัดอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง Oxford Programme On Negotiation in Bangkok 2019 จากอ๊อกฟอร์ด โดยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ Tim Cullen MBE ผู้ก่อตั้ง The Oxford Programme on Negotiation ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่แพงที่สุดในประเทศไทย และใช้เวลาอบรมเพียง 5 วัน โดยอาจารย์และทีมงาน ที่มาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดทั้งหมด
ในส่วนของงานอื่นๆ ตอนนี้ผมเริ่มทำ ‘ไทยรอด ฮอสปิเทล โรงแรมพูลแมน อโศก’ ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจที่เราได้ร่วมมือกับ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่มาก เพราะว่า 1.ฮอสปิเทล ก่อนมีโควิด-19 ไม่ใช่สิ่งที่แพร่หลายในไทย ดังนั้น จึงไม่มีสูตรสำเร็จให้ผมได้เรียนรู้ แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากให้ผู้ป่วยมีที่พัก ตอนนี้ความท้าทายก็คือการทำฮอสปิเทลยังไงให้คนที่ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจหรือการรักษาได้ โดยที่ผมเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการช่วยหยุดกระจายของโรคระบาดนี้
สุดท้ายแล้วพอมันหยุดแพร่กระจายได้ดี ชุมชนก็จะกลับมาดี สังคมก็จะกลับมาดีขึ้น มันจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผม เพราะผมเองก็กำลังเรียนรู้กับเรื่องนี้อยู่ครับ”
ทราบมาว่าผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ มากมาย ได้ความรู้และประสบการณ์อย่างไรบ้าง
“การได้อบรมหลักสูตรต่างๆ ก็เหมือนเป็นการติดอาวุธทางปัญญาอีกทางหนึ่ง ผมขอพูดถึงแค่บางหลักสูตรนะครับ อย่างหลักสูตรแรกที่มีโอกาสเข้าไปอบรมก็คือ หลักสูตรประกาศนียบัตร ผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) รุ่นที่ 2 จัดอบรมโดยสถาบันพระปกเกล้า เมื่อผมมีความสนใจในงานการเมือง ความรู้ที่ได้จากการอบรมก็ทำให้ผมรู้จักคำว่า ผู้นำ หรือผู้บริหารรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะเป็นผู้สนับสนุนบทบาททางการเมือง ขณะที่สภาพสังคมปัจจุบันมีขนาดใหญ่ หลากหลาย ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก การอบรมครั้งนี้จึงทำให้ได้รับประสบการณ์ตรงจาเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ต่างก็มาจากผู้นำจากภาคการเมือง ภาคราชการ และภาคเอกชนรุ่นใหม่มากมายเลยครับ
มีหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของผมโดยตรง เช่น หลักสูตรกลยุทธ์การบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (RE-CU JUNIOR) รุ่นที่ 6 จัดอบรมโดย สมาคมผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากผมรู้สึกว่าผมเป็นแกะดำในครอบครัว เวลาที่พี่น้องคุณพ่อคุยกัน ผมจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ทั้งที่อยู่ในครอบครัวที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ตัวผมเองกลับไม่มีความรู้พื้นฐานด้านอสังหาริมทรัพย์เลย จึงเลือกที่จะไปเรียนหลักสูตรที่ทำให้เราเข้าใจทักษะ กลยุทธ์ กระบวนการในการบริหารธุรกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อนำไปสู่การบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างถูกต้องตามระบบได้มากยิ่งขึ้น
หลักสูตร Oxford Programme On Negotiation in Bangkok 2019 จัดโดย University of Oxford การเจรจาต่อรองถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตั้งแต่เรื่องส่วนบุคคล ธุรกิจ การเมือง การปกครอง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้นำระดับโลกต่างให้ความสำคัญกับการเจรจาต่อรอง และต้องทำความเข้าใจกับศาสตร์และศิลป์ชั้นสูงของวัฒนธรรมการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ เพราะวิสัยทัศน์กับแผนกลยุทธ์ที่ดีไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนประเทศ หรือองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายได้ หากปราศจากความสามารถขั้นสูงในการเจรจาต่อรอง เพราะสุดท้ายเราไม่ได้จัดการกับข้อมูล แต่เราจัดการกับคู่เจรจาหลายฝ่าย กับความต้องการในใจของเขาแต่ละคน และองค์กรของเขา ทุกคนต่างต้องตัดสินใจโดยผ่านขั้นตอนของการเจรจาต่อรองทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง (ยธส.) รุ่นที่ 12 จัดโดยวิทยาลัยกิจการยุติธรรม และหลักสูตรกลยุทธ์การบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (RE-CU JUNIOR) รุ่นที่ 6 จัดอบรมโดยสมาคมผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น”
ที่ผ่านมาเมื่อเจอกับอุปสรรคด้านการทำงาน มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร
“ด้วยอาชีพที่ทำอยู่ นอกจากตัวกฎหมายที่ต้องรู้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมยังต้องเรียนรู้ก็คือศิลปะในการเข้าใจและทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก เพราะตอนเรียนกฎหมายก็จะเป็นแบบนึง แต่พอได้มาทำงานจริงๆ ก็จะเป็นอีกแบบนึง มันมีปัจจัยที่ทำให้การเจอคนแต่ละคนต่างกันเยอะมาก และตอนนี้ผมกำลังเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนจำนวนมาก เข้าใจคนที่แตกต่าง และเข้าใจคนที่มี Mind Set หรือความคิดที่ต่างกันอยู่ ฉะนั้นแล้วโอกาสในการพบเจอคนเยอะๆ ได้พูดคุย ได้เรียนรู้ ถือเป็นการเรียนรู้ที่ดี ทำให้รู้สึกว่าการเจรจาต่อรองกับคน การทำความเข้าใจคนอื่นนั้น เป็นรากฐานที่ดีในการทำงาน ทั้งยังช่วยต่อยอดในการเข้าใจสังคม และการเข้าใจประเทศชาติต่อไป เพราะทุกอย่างล้วนเริ่มจากคนครับ”
ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ช่วยให้ข้อคิดเรื่องการบูลลี่ในสังคมตอนนี้
แม้การบูลลี่อาจจะดูเป็นการกระทำเล็กๆ ในสายตาของใครบางคนแต่อาจสร้างบาดแผลให้กับผู้ที่ถูกบูลลี่ได้ และนอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องของความเท่าเทียม ความเสมอภาค ความหลากหลายและการแสดงออก “การบูลลี่อาจสร้างความบันเทิงให้กับผู้กระทำ แต่อาจเป็นบาดแผลฉกรรจ์ให้กับผู้ถูกกระทำไปทั้งชีวิต” ในทางกฎหมาย การบูลลี่ อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกแล้วแต่กรณี
จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมามีเคสไหนที่ประทับใจ
ด้วยมารยาทในวิชาชีพ ผมไม่สามารถนำเรื่องนี้มาแชร์ได้ แต่สิ่งที่ผมสามารถนำมาแชร์ได้ก็คือ สิ่งที่ทำให้ประทับใจในอาชีพนี้คือ การได้เห็นลูกความมีความสุข
หนังสือเล่มโปรดที่คุณชอบอ่านคืออะไร ได้ข้อคิดอะไรจากการอ่าน
ผมชอบอ่านหนังสือ Biography การได้อ่านชีวประวัติ ทำให้เราได้เรียนรู้คนอีกแบบหนึ่ง บางคนเราไม่ได้มีโอกาสพบเจอ หรือไม่สามารถพบเจอเขาได้แล้ว แต่เราก็ได้รู้จักเขาผ่านตัวหนังสือ ได้รู้ความคิดเขา และที่สำคัญที่สุดคือได้รู้วาระสุดท้ายของเขา
คุณออด – ณัฐวัฒน์ กล่าวปิดท้ายถึงแผนในอนาคตว่า
“ถึงแม้ว่าจะได้ทำงานมาหลากหลายมาก แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนในสิ่งที่อยากทำครับ จริงๆ แล้วรู้สึกว่าอยากลองทำงานสายการเมืองดูบ้าง ผมอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ตอนนี้ผมก็พยายามทำงานหลายๆ ส่วนที่จะช่วยให้ปัญหาต่างๆ ในประเทศเบาลง เช่น ฮอสปิเทล เป็นต้น พอได้ทำแล้วก็เลยรู้สึกว่า ถ้าผมได้มีส่วนร่วมในด้านการเมืองก็คงน่าจะมีโอกาสทำสิ่งเหล่านี้ได้เต็มที่มากขึ้น อีกทั้งเป็นช่วงอายุที่พร้อมแล้วสำหรับงานการเมือง ผมมีทั้งความรู้ และความตั้งใจ จึงอยากลองดูว่าถ้าผมได้โอกาสในการทำงานด้านการเมือง ผมจะทำได้อย่างที่คิดไว้ไหม”
ฝากติดตามและเป็นกำลังใจดี ๆ ให้ คุณณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ : นักกฎหมายและนักบริหารรุ่นใหม่อนาคตไกล ได้ตามช่องทางด้านล่างนี้
• FACEBOOK : https://www.facebook.com/natthawat.porchaidai
• INSTRAGRAM : https://www.instagram.com/oody55/
• TWITTER : https://twitter.com/natthawatoody
ไม่มีความคิดเห็น