สธ. รณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 2566 ภายใต้แนวคิด “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย”
กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก เนื่องจากวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาโปรดให้ พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 และมอบรางวัล World No Tobacco Day Award 2023 ภายใต้คำขวัญ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” เพื่อป้องกันเยาวชนและประชาชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2566) ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นางสาวพัทราภรณ์ แจ่มทอง ประธานชมรม GenZ Wangpong ดร.นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ร่วมแถลงข่าวรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566
นพ. ธเรศ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปีนี้ ประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” เพื่อเป็น การแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรง พิษภัยและอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ที่ต้องการเพิ่มความน่าสนใจ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและการเสพติดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่จากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบภาพรวมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 32 ในปี 2534 เหลือร้อยละ 17.4 ในปี 2564 แต่ในส่วนของนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า
ดังนั้น หากไม่มีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง อาจส่งผลทำให้อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในภาพรวมกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ 5 มาตรการ ในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่ 1.การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.สร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน 3.เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4.พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ 5.ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยได้มีการมอบหมายให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวทั้งในระดับส่วนกลาง และระดับพื้นที่
Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังคงถือเป็นบุหรี่ แม้ว่าจะไม่มีใบยาสูบเป็นส่วนประกอบ แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดและมีสารเคมีอันตรายหลายชนิด ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก จึงสนับสนุนประเทศไทยในการออกกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการปกป้องสุขภาพอนามัยประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวเสริมว่า ในนามสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ซึ่งเป็นการรวมกันของวิชาชีพสุขภาพ 23 องค์กร จะช่วยกันรณรงค์คุ้มครองสุขภาพอนามัยประชาชนคนไทยจากโรคภัยที่เกิดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลยืนหยัดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขาย และห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด และขอเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกฝ่าย ได้โปรดปกป้องพี่น้องประชาชน และดูแลลูกหลานไม่ให้เข้ามาข้องแวะกับบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาบรรจุความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในหลักสูตรของนักเรียนทุกระดับชั้นต่อไป
นางสาวพัทราภรณ์ แจ่มทอง ประธานชมรม GenZ Wangpong โรงเรียนวังโป่งศึกษา กล่าวว่า ในนามของกลุ่มตัวแทนเยาวชน GenZ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของบริษัทบุหรี่ รู้สึกไม่ดีกับผู้ใหญ่บางกลุ่มที่มุ่งเป้ามาที่เด็กและเยาวชน เพื่อหวังให้กลุ่ม GenZ มาใช้บุหรี่ซึ่งมีนิโคติน เป็นสารเสพติดมีฤทธิ์ต่อสมอง หากเยาวชนติดบุหรี่ อนาคตของชาติก็ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันมีกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ ในการออกแบบบุหรี่ไฟฟ้าให้มีรูปร่าง และกลิ่นรสให้สูบง่าย ซึ่งทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดได้ไวกว่า รวมทั้งสูบได้สะดวกและบ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ ดังนั้นในนามของตัวแทนเยาวชนชมรม GenZ จะร่วมมือกันสร้างสมาชิก สร้างค่านิยมให้เยาวชน “เลือกไม่สูบ” รวมทั้งเป็นแกนนำสร้างความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งไม่สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพราะพฺษของบุหรี่ไฟฟ้าจะทำลายสมองและสุขภาพของเยาวชน
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันข้อมูลจากทั่วโลกบ่งชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดผู้เสพติดนิโคตินในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่นๆ ในปี 2565 จากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ จำนวน 6,045 คน พบว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่ง ศจย. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 เรื่องคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ในระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2566 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงประเด็นปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และร่วมหาทางออกในการปกป้องเยาวชนจากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่หลอกล่อโดยการตลาดให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษอย่างบุหรี่ไฟฟ้า
ไม่มีความคิดเห็น